วันพุธ

ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต วัดทุ่งบ่อแป้น

วันนี้ได้พาน้อง ๆสมาชิกไปแอ่ววัดทุ่งบ่อแป้น ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางซึ่งเป็นวัดที่มีความแตกต่างไปจากวัดทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจของพุทธศาสนิกชนในชุมชนแล้ว วัดทุ่งบ่อแป้นแห่งนี้ยังเป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยวิธีแพทย์แผนไทย ควบคู่กับการรักษาตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ในการไปแอ่วครั้งนี้ มีน้อง ๆ สมาชิกและผู้ปกครองที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 37 คน มีพี่เก๋ คุณพานิภัค วงศ์เมืองคำ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลห้างฉัตร เป็นวิทยากรให้ความรู้และนำชมวิธีการรักษาโรคแต่ละขั้นตอน

ท่านพระครูอาทรประชากิจ เจ้าอาวาสวัดทุ่งบ่อแป้น เดิมท่านเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ท่านได้เดิน ธุดงค์มาและจำพรรษาอยู่ ณ วัดทุ่งบ่อแป้น จังหวัดลำปาง และได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 “ ท่านได้ทุ่มเททั้งร่างกายและแรงใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมีแรงบันดาลใจมาจากโยมแม่ซึ่งเคยป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตและเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 20 ปี “

ครั้งแรกใช้อาคารโรงครัวของวัดเป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูวันละ 1-2 คน โดยในที่ช่วงแรก ๆ ท่านและลูกวัด
ได้ช่วยกันรักษาเอง แต่พอปลายปี 2539 ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10-20 คน จึงได้รับอาสาสมัครพยาบาลวิชาชีพและชาวบ้านผู้ที่มีจิตอาสาช่วยดูแลผู้ป่วย ซึ่งพยาบาลที่อาสาเข้ามาช่วยก็จะมาจากโรงพยาบาลห้างฉัตร โรงพยาบาลลำปาง และโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี

ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินซื้อที่ดินให้วัด 13 ไร่เศษ ด้านหลังวัดจัดสร้างเป็นอาคารที่พักฟื้นฟูผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 หลัง อาทิเช่น อาคารห้องพักผู้ป่วย ห้องพัดลม จำนวน 34 ห้อง ห้องพักผู้ป่วยติดแอร์ จำนวน 10 ห้อง และยังมีอาคารปฏิบัติธรรมและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอีกด้วย อาคารที่สร้างเรียบร้อยแล้วนั้น สามารถรองรับผู้ป่วยที่มาฟื้นฟูได้วันละ 70 คน

การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่สำคัญที่สุด คือผู้ป่วยที่มาฟื้นฟูจะต้องได้รับการดูแลจาก แพทย์แผนปัจจุบัน โดยผู้ป่วยทุกคนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทุกอย่างและอีกประการหนึ่งคือ คนรอบข้างต้องให้กำลังใจผู้ป่วยมาก ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการบอกเล่าว่าที่วัดนี้สามารถฟื้นฟูคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้และจากสื่อแขนงต่าง ๆ ที่เข้ามาทำข่าว จนทำให้วัดทุ่งบ่อแป้นเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ มีผู้ป่วยที่มารักษาไม่ขาดสายเฉลี่ยวันละ 60-70 คน ทั้งมานอนพักและไปกลับ

ท่านพระครูอาทรประชากิจ ได้จัดวิทยากรมาฝึกอบรมให้ความรู้และการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นต้องทำอย่างไร ให้แก่ชาวบ้านที่อาสาสมัครเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย หลังจากที่ได้ฝึกอบรมเรียบร้อยแล้วก็สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยได้จนถึงทุกวันนี้ อาสาสมัครทุกคนร่วมกับพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยเหมือนกับญาติของตนเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งนี้ จะไม่เหมือนโรงพยาบาล เพราะไม่มียูนิฟอร์มให้กับผู้ป่วยเลยและไม่มียารักษาแต่อย่างใด มีสถานที่และบรรยากาศคล้ายกับรีสอร์ทมากกว่า จึงทำให้ผู้ป่วยที่มารักษาได้มีความรู้สึกว่าเหมือนกับอยู่บ้านของตนเอง ผู้ป่วยมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศอเมริกา ผู้ป่วยที่จะมารับการรักษาจะต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่(พยาบาลวิชาชีพ) แล้วจึงทำการประเมินผลก่อนว่าผู้ป่วยจะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ กับทางศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้หรือไม่ กิจกรรมที่ทาง ศูนย์ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วย
มี 5 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 การใช้ใบพลับพลึง จากภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อนจะใช้ใบพลับพลึงประคบแก้ฟกช้ำดำเขียว ใบพลับพลึงนี้มีคุณสมบัติถ้าผ่านความร้อนแล้ว ความร้อนจะสามารถอมความชื้นได้นาน จึงมีการนำใบพลับพลึงมาประคบให้กับผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อได้คลายตัวและช่วยให้ระบบการไหลเวียนดีขึ้น

ขั้นตอนที่2 การออกกำลังกา ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อตีบจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือหรือออกกำลังกายด้วยตนเองได้ ก็จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น กล้ามเนื้อก็จะยืดตัวได้เร็วกว่าปกติ

ขั้นตอนที่ 3 การใช้ลูกประคบ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตจะใช้ไพล (ปูเลย) ตะไคร้ และมะกรูด นำสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มาบดให้ละเอียดนำมาใส่ชามและนำเหล้า 35 ดีกรี มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปนึง พออุ่น ๆ ก็จะนำมาใส่กะละมังเพื่อที่จะทำเป็นลูกประคบ เมื่อทำเป็นลูกประคบเรียบร้อยแล้วก็สามารถนำมาประคบทั่วร่างกายผู้ป่วยได้เลย (ถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊า โรครูมาตอย ก็จะงดรักษาในขั้นตอนนี้ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำปฏิกิริยากับกรดบางอย่างในร่างกาย ทำให้ตามร่างกายของผู้ป่วยจะบวมแดง)

ขั้นตอนที่ 4 การทำธาราบำบั เป็นการนำผู้ป่วยมาแช่ในน้ำสมุนไพร ซึ่งจะมีสมุนไพรด้วยกัน 3 ชนิด คือ ไพล (ปูเลย) ตะไคร้ มะกรูด นำมาต้มและเคี่ยวให้ได้น้ำยาออกมา จากนั้นก็จะตักน้ำยานี้ไปผสมกับน้ำพอให้อุ่น แล้วนำผู้ป่วยลงแช่ประมาณ 10-15 นาที ซึ่งวิธีการทำธาราบำบัดนี้ ใช้ระบบน้ำอุ่นคลายกล้ามเนื้อของผู้ป่วย

ขั้นตอนที่ 5 การออกกำลังกายในน้ำ คือ การนำผู้ป่วยเดินในบ่อเลน ซึ่งได้นำดินเหนียวมาผสมในน้ำโดยมีราวให้จับ ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานและช่วยให้กำลังขาดีขึ้น

นอกจาก 5 ขั้นตอนนี้แล้ยังมีการทำกายภาพบำบัด โดยใช้อุปกรณ์ที่เหมือนกับทางโรงพยาบาล มีเตียงปรับ มีชักลอก หมุนวงล้อ เตะเข่า ฝึกขึ้นบันได มีราวจับสำหรับผู้ที่ฝึกเดิน
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้จัดขึ้นคือ การปฏิบัติธรรม โดยมี กพ.รองรับอยู่ หลักสูตรที่ใช้ คือ หลักสูตรของคุณแม่สิริ กรินชัย จ.ฉะเชิงเทรา 7 วัน 6 คืน ซึ่งจะมีลูกศิษย์ของท่านมาเป็นวิทยากรให้ ทางศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้จัดตารางการเข้าปฏิบัติธรรมทุกเดือน ยกเว้นเดือนเมษายน จะมีการบวชพระ
ในส่วนการช่วยเหลือชุมชน ท่านพระครูอาทรประชากิจ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีรายได้เสริมจากการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง พวงหรีด ฯ

โดยจัดหาผู้ที่เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้และจัดตั้งกองทุนให้สำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน เมื่อเสียชีวิตแล้วท่านก็จะมอบทุนให้สำหรับญาติหรือถ้าผู้สูงอายุคนใดไม่มีญาติเลย ท่านพระครูอาทรประชากิจก็จะรับเป็นเจ้าภาพตลอดงาน และจัดกิจกรรมตั้งกลุ่มชมรมสนทนาธรรมะในผู้สูงอายุด้วย จัดตั้งโครงการ 5 บาท คือ จะรับผู้สูงอายตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถ้าผู้สูงอายุคนใดเสียชีวิตไปและได้เข้าร่วมโครงการ 5 บาท นั้น ทางศูนย์ฟื้นฟูฯ ก็จะรวบรวมเก็บเงินครั้งละ 5 บาท/คน เพื่อที่จะนำเงินจำนวนนั้น สมทบให้กับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตได้นำไปใช้ในการจัดการกับงานศพหรือเป็นกองทุนในอนาคตของครอบครัว รวมทั้งมอบโลงศพให้ฟรี นอกจากจะจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุแล้วก็ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอีกด้วย ที่สำคัญได้รับการสนับสนุนรถแอมบูแลน จากสำนักงานนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คัน เพื่อที่จะนำออกนอกสถานที่ และได้รับการสนับสนุนรถจากมูลนิธิร่วมกตัญญูอีก 2 คัน เพื่อที่จะใช้ขนอุปกรณ์การรักษาออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ในทุก 1 เดือน จะมีแพทย์อาสาออกเยี่ยมผู้ป่วยศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต วัดทุ่งบ่อแป้น และตามชุมชนต่าง ๆ
สมาชิกกับความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของศูนย์ฟื้นฟูฯ

น้องฟาง (เด็กชายวัชริศ สุชาตตระกูล) บอกว่าการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับรู้ถึงขั้นตอนการรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่แตกต่างจากการรักษาในโรงพยาบาล ที่น่าสนใจที่สุด คือการนำใบพลับพลึงมาประคบเพื่อช่วยให้หายปวดเมื่อย




น้องใบเต (เด็กหญิงฐานิดา พงศ์เต็มสุข) มีความประทับใจในเรื่องการใช้ลูกประคบที่ทำจากพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ไพล (ปูเลย) ตะไคร้ มะกรูด หั่นฝอยแล้วตากให้แห้งบรรจุถุงผ้าแล้วนำๆไปนึ่งจากนั้นนำไปแช่ในถ้วยเหล้าขาว แล้วนำมาประคบเพื่อช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีและช่วยคลายความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ


ธาราบำบัด คือ อีก 1 วิธีที่ น้องปูเป้ (เด็กหญิงณัชชา แลสันกลาง) บอกว่า น่าสนใจที่สุดเพราะทางศูนย์ฟื้นฟูฯ นำเอาพืชสมุนไพรที่หาง่ายในชุมชนมาเคี่ยวจนเหนียวหนืด แล้วผสมน้ำอุ่นในอ่างให้ผู้ป่วยนอนแช่



สมาชิกอื่น ๆ และผู้ปกครอง ได้ให้ความสนใจในการไปแอ่ววัดแอ่วเวียงครั้งนี้ และได้ร่วมกันทำบุญบริจาคเงิน สิ่งของ สมทบให้กับผู้ป่วยของทางศูนย์ฟิ้นฟูฯ



1 ความคิดเห็น:

  1. เจ็บขานานเป็นปีอะครับ พอจะช่วยได้ไหมครับ เครียดดด ถ้าได้ช่วยบอกหน่อยนะครับ 0845978059 ครับ ขอบคุณมากครับ TT

    ตอบลบ