วันจันทร์

แอ่ววัด แอ่วเวียง ร่วมงาน 9 มหาพุทธานุภาพ เขลางค์นคร 1,329 ปี สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ 9 ประเทศ ณ วัดป่ารวก


วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2552 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้พาสมาชิกชมรมแอ่ววัด แอ่วเวียง เดินทางไปที่วัดป่ารวก เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาติ 9 ประเทศ ในงานพุทธานุภาพ เขลางค์นคร 1,329 ปี สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ 9 ประเทศ ซึ่งจังหวัดลำปางได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 82

โดยพระบรมสารีริกธาตุ 9 ประเทศนั้นนำมาจาก อินเดีย ศรีลังกา พม่า เนปาล จีน ลาว กัมพูชา ภูฎาน และไทย สำหรับพระพุทธรูปจำลองศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง 9 อง์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธสิหิงค์ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อพระใส หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อทอง พระมงคลบพิตร และพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล

เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ ได้พาสมาชิกทำกิจกรรมภายในงาน คือ สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เดินชมสถาปัตยกรรมภายในวัด ชมการแสดงพื้นบ้าน ชมนิทรรศการต่างๆที่มีหลายหน่วยงานมาจัดขึ้น



-------------------

ประวัติวัดป่ารวก
(ข้อมูลจากเว็บท้องถิ่น)

เดิมบริเวณที่สร้างวัดเป็นป่าไผ่รวกไม่มีใครเป็นเจ้าของ ต่อมามีผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยการนำของท้าวอินต๊ะชักชวนผู้คนในหมู่บ้านช่วยกัน ถางป่าไผ่รวก แล้วได้สร้างอารามไว้ และได้นิมนต์พระสุภามาจำพรรษาในปี พ.ศ.2413
จนมาถึงสมัยท่านครูบาชายสิทธิ ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองจนได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 และได้รับนามว่า “วัดป่ารวก” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดเกาะวาลุการาม ทำบุญวันมาฆบูชา

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ และวิทยากรอาสา ครูยุพา แสนวงศ์คำ พร้อมทั้งสมาชิกชมรมแอ่ววัด แอ่วเวียง เดินทางไปวัดเกาะวาลุการาม เพื่อทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา วันมาฆบูชา โดย ได้นำสมาชิกร่วมกราบบูชาพระรัตนตรัยและพระประธาน พร้อมทั้งถวายสังฆทาน และรับฟังธรรมเทศนาจากเจ้าอาวาสวัดเกาะวาลุการาม จากนั้นสมาชิกชมรมแอ่ววัด แอ่วเวียง วิทยากรครูยุพา และเจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ ได้ช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ โดยการปัดกวาดบริเวณวัดช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง


ประวัติวัดเกาะ
(ที่มาเว็บไซต์ http://www.watkoh.com/)

ที่มาของคำว่าเกาะ
ตามทางภูมิศาสตร์ได้กล่าวว่า เกาะ คือแผ่นดินส่วนใดส่วนหนึ่งผืนแผ่นดินส่วนนั้นมีน้ำล้อมรอบ เรียกว่าเกาะประมาณ 40-50 ปี ย้อนหลังขึ้นไป ลำแม่น้ำวัง เมื่อไหลผ่านสะพานรัษฎาภิเษกลงไปประมาณ 250 เมตร ก็จะแยกออกจากกัน เป็นสองแถว ที่แยกจากกันนั้นเกิดเป็นเกาะกลางขึ้นเกาะหนึ่ง แควทั้งสองข้างเกาะ จะมีน้ำไหลมากพอให้เรือเดินขึ้นล่องได้สะดวก น้ำที่ไหลแตกแยกจากกัน จะไปบรรจบเป็นแควเดียวกันอีก จากหัวเกาะถึงท้ายเกาะยาวประมาณ 200 เมตร ตอนที่กว้างที่สุดของเกาะ ประมาณ 50 เมตร

เกาะแห่งนี้แต่โบราณกาลประมาณไม่ได้ว่าจะเป็นกี่ปีมาแล้ว นัยว่าเป็นสถานที่เจ้าหญิงองค์หนึ่ง แห่งลานนามาประทับอยู่หรือทำพิธีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง (ผู้เขียนไม่กล้ายืนยัน) เมื่อหมดสมัย หรือหมดความต้องการของใคร ๆ แล้ว ก็คงจะทิ้งอยู่เป็นเกาะป่าละเมาะร้างว่างเปล่าอยู่ดังนั้นตลอดมา พอจะประมาณได้ว่า ราว 90-100 ปีมานี้ก็มีประชาชนข้ามไปจับจอง แผ้วถางถือกรรมสิทธิ์ปลูกบ้านอยู่อาศัย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำสวนปลูกผักเป็นตอน ๆ การจะข้ามไปมาสู่เกาะนี้ จากฝั่งซ้ายทิศเหนือและฝั่งขวาทิศใต้จะต้องใช้เรือหรือทำสะพานไม้ไผ่ขัดแตะชั่วคราว มีตอนปิดเปิดตรงร่องน้ำให้เรือแพผ่านไปมาได้ สะพานนี้จะทำใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งน้ำลดเท่านั้น แม้จะเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งมากแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นมีน้ำมากไหลเอ่ออยู่ตลอดเวลาด้านซ้ายและขวาของเกาะก็มีน้ำไหล เรือแพขึ้นล่องได้ตลอดสาย ตั้งแแต่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ถึงสุดปากแม่น้ำวัง ไหลลงไปบรรจบแม่น้ำปิง ที่ อ.สามเงา จ.ตาก

ความเป็นมาโดยย่อเกี่ยวกับการก่อสร้างวัดเกาะ


โบราณกาล คนไทยอพยพไปอยู่ที่ใด เป็นกลุ่มก้อนมักไปสร้างวัดให้ใกล้บ้านตน ตามสมควรในที่เหมาะสมเป็นของตนเองสักแห่งหนึ่ง หรือหลายแห่งแล้วแต่โอกาสวัดในอำเภอเมืองลำปางขณะนั้น มีอยู่แล้วอย่างที่เห็น ๆ กันในขณะนี้ แต่อาจเป็นเพราะหวังผลอานิสงส์ทางศาสนาอย่างหนึ่ง เกียรติคุณชื่อเสียงอย่างหนึ่ง และการไปมาวัดเพื่อความสะดวกบางประการหรือหลายประการ เวลานั้นก็มีพระและวัดชาวใต้อยู่ 2 วัด คือวัดไทยใต้

วัดดำรงธรรมปัจจุบันและวัดบนหรือวัดไทยบน วัดเมืองสาสน์ใต้ แล้วแต่จะเรียกกันตามถนัด ปัจจุบันวัดบนหรือวัดเมืองสาสน์ใต้ไม่มีแล้ว ได้รื้อถอนเป็นศาสนสมบัติของวัดเมืองสาสน์ใต้ ปัจจุบันนี้ตั้งโรงเรียนพินิจวัฒนา ท่านเหล่านั้นนอกจากได้ทำบุญตามวัดพื้นเมืองต่าง ๆ แล้ว วัดชาวใต้ 2 วัด ที่มีดำรงธรรม กับวัดบนอาจไม่พอกับความต้องการหรือห่างไกลไปและโดยอการปกครองคณะสงฆ์ตลอดทั้งพิธีศาสนกิจการสวดอรรถาบาลีทำนอง ยังไม่เป็นระเบียบอย่างเดี๋ยวนี้ ต่างวัดต่างปฏิบัติตามความนิยมของแต่ละฝ่าย สิ่งเหล่านี้หรือหลายอย่างอาจประกอบดัน จึงเกิดศรัทธาประสาทะการสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง จึงต่างมองแสวงหาที่ทางอันเหมาะสม จะได้สร้างกันต่อไป

กำเนิดของวัดเกาะวาลุการาม

เมื่อพ่อค้าแม่ค้าคหบดี แถวถนนตลาดจีนเหล่านั้นตั้งใจจะสร้างวัดอยู่แล้ว ก็เห็นว่าเกาะกลางที่แยกแม่น้ำออกสองแคว ในแถวใกล้หรือหลังบ้านของตนอยู่นี้พอจะข้ามไปมา อุปถัมภ์ทำบุญสุนทานได้สะดวก ทั้งตั้งอยู่ในที่แยก ๆ ออกไปเป็นสัดส่วนต่างหาก ไม่ปะปนกับชุมนุมชน ค้าขายแต่อย่างใด เป็นทำเลร่มเย็นเหมาะสมเป็นบริเวณอารามสถานได้ดี แม้จะมีคนไปจับจองทำสวนปลูกบ้านเรือนอยู่ทางหัวเกาะบ้างแล้ว ก็เป็นเพียงบางส่วน พอจะแผ้วถางปลูกสร้างได้ ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส สนับสนุนออกทุนทรัพย์ทั้งกำลังกายกำลังใจแผ้วถางที่ทางขยับขยายด้วยการซื้อขายแบ่งปันยกให้ สุดแล้วแต่กำลังศรัทธา อาคารหลังแรกของวัดเกาะวาลุการามก็ปรากฎขึ้นเป็นกุฏิไม้ไผ่ หลังคามุงตอนตึง (ตองควง) ฝาขัดแตะ ตั้งอยู่บริเวณข้างต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งเวลานี้ได้ล้มโค่นลงแล้ว อยู่ใกล้ ๆ กับกุฏิพระนอนประมาณปีเริ่มตั้งวัดก็เห็นจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2427 ถึง พ.ศ. 2430 ประมาณ 90 ปีมาแล้ว

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watkoh.com/data/histr/historywat.php)

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดม่อนพญาแช่ และเรียนรู้ศิลปะการปั้นหม้อ


วันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2552 ศูนย์การเรียนรู้ปัทมะเสวีได้นำสมาชิกชมรมแอ่ววัด แอ่วเวียงเดินทางไปท่องเที่ยวทัศนศึกษาที่วัดม่อนพญาแช่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนภูเขาสูงและทัศนียภาพสวยงาม แห่งหนึ่งของจงหวัดลำปาง โดยมีวิทยากรคือ ครูยุพา แสนวงศ์คำเป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัด และพาสมาชิกชมรม กราบพระและถวายสังฆทานและปัจจัย นั่งสมาธิและรับฟังธรรมเทศนาโดยเจ้าอาวาสวัดม่อนพญาแช่

เมื่อเสร็จพิธีเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯและครูยุพา จึงได้พาสมาชิกชมรมเดินขึ้นไปบนจุดสูงสุดของวุดเพื่อชมทัศนีย์ภาพของเมืองลำปาง และออกเดินทางจากวัดไปที่ชุมชนวัดม่อนพญาแช่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำเครื่องปั้นจากดินเหนียวเพื่อเรียนรู้ กรรมวิธีการปั้นตุ๊กตาและหม้อดิน โดยวิทยากรของชุมชนคุณลัดดา ก๋าคำได้ให้ความรู้พร้อมบอกเล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มปั้นหม้อชุมชนวัดม่อนพญาแช่ และให้สมาชิกชมรมแอ่ววัด แอ่วเวียงได้ลองหัดปั้นดินเป็นตุ๊กตาน่ารักด้วยตัวเอง สร้างความสนุกสนานให้กับสมาชิกเป็นอันมาก


ประวัติวัดม่อนพญาแช่

วัดม่อนพญาแช่ หรือพระยาแช่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพิชัย บนเส้นทางสายลำปาง-งาว ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 และเลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 605 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร มีพระเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน

ที่ตั้ง ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

สิ่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียน
เจดีย์ ๑ องค์

อายุสมัยของการก่อสร้าง

วัดม่อนพญาแช่ มีประวัติที่เกี่ยวพันกับเมืองนครเขลางค์ โดยมีตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ
ฤาษีที่อาศัยอยู่บนยอดเขาเขลางคบรรพตเจดีย์องค์เดิม ถูกทำลายเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้ได้ดีใหม่แล้ว

ความสำคัญ

เป็นเจดีย์ที่เคารพของชาวเมืองลำปาง และมีประวัติเกี่ยวพันกับเมืองลำปางโดยตรง
การประกาศขึ้นทะเบียน
๑. ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕
ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

(ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
-----------------------------------------------------------

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดเจดีย์ซาวหลัง และร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับการทำรถม้า


วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2551 เจ้าหน้าที่และสมาชิกศูนย์การเรียนรู้ได้เดินทางไปทัศนศึกษาในกิจกรรมชมรมแอ่ววัดแอ่วเวียง โดยเดินทางไปที่วัดเจดีย์ซาวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นและถวายสังฆทานและปัจจัยแด่เจ้าอาวาสพร้อมรับฟังธรรมเทศนาก่อนที่จะเดินชมบริเวณวัด โดยมีมัคคุเทศน้อยซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนนั้น เป็นผู้เดินพาชมและอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของวัดได้เป็นอย่างดี

สมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ ได้ไปชมสัตว์นานาชนิดที่ทางวัดเลี้ยงไว้ เช่น นกยูง ไก่ และเป็ด พร้อมทั้งให้อาหารปลาในบ่ออภัยทานของวัดด้วย จากนั้นมัคคุเทศน้อยก็ได้อธิบายถึงความเชื่อของการนับจำนวนเจดีย์ทั้งหมดภายในวัดว่า ใครที่สามารถนับเจดีย์ได้ถึง 20 (หรือซาว) เป็นผู้มีบุญ สมาชิกจึงได้พากันนับไปอย่าสนุกสนาน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ ก็ได้พาสมาชิกเดินทางไปที่ชมรมรถม้าลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่ในการประกอบรถม้า และให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของรถม้าลำปาง พร้อมทั้งยังมีการแสดงโชว์เกี่ยวกับม้า เช่น การขี่ม้า โยนบ่วงบาศ ฯลฯ สมาชิกศูนย์ฯได้ร่วมลองทำกิจกรรมโยนบ่วงบาศคล้องคอม้ากับวิทยากรของชมรมรถม้าด้วยบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาม พร้อมกันนั้นสมาชิกก็ได้ความรู้กลับมามากมาย


ประวัติวัดเจดีย์ซาว
(ข้อมูลจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)


วัดเจดีย์ซาวหลังตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 1.5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง - แจ้ห่ม คำว่า ซาว แปลว่า ยี่สิบ คำว่า หลัง แปลว่า องค์ ฉะนั้น วัดเจดีย์ซาวหลัง จึงแปลได้ว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี

จุดเด่นของวัด คือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปทันใจ พระอุโบสถหลังใหญ่ ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่ และที่ศาลาการเปรียญเรือนไม้ชั้นเดียว

ด้านหลังพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑสถานเขลางค์นคร แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า พระแสนแซ่ทองคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ

++++++++++++++++++++++++

ประวัติรถม้าลำปาง
บทความโดย njoy เมื่อ อังคาร, 10/21/2008 จากเว็บไซต์ http://www.openbase.in.th/node/6807
ที่มา: เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้


ความเป็นมา ของรถม้าลำปางจากคำบอกเล่าและบันทึกของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง อดีตนายกสมาคมรถม้าคนที่ ๒ ของจังหวัดลำปาง ซึ่งอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนตุลาคม พงศ.๒๕๓๗ ได้รวบรวมไว้มีใจความว่า รถม้าเริ่มเข้ามาในจังหวัดลำปางเมื่อประมาณ ๘๐ ปีที่แล้ว รถม้าคันแรกคาดว่าเป็นของแขกหรือของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายซึ่งได้ซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร โดยว่าจ้างแขกมาเป็นสารถี

ต่อมารถยนต์ในกรุงเทพฯ มีมากขึ้น รถม้าได้เริ่มอพยพมาในลำปางมากขึ้นและกระจัดกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ และน่าน ต่อมาปรากฏว่ามีเพียงจังหวัดลำปางที่นำรถม้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนจังหวัดอื่นที่กล่าวมารถม้าได้หมดความนิยมไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

อีกประมาณ ๓๙ ปี หลังจากที่รถม้าเริ่มเข้ามาวิ่งในจังหวัดลำปาง (พ.ศ.๒๔๙๒) ขุนอุทานคดี ซึ่งเป็นทนายของจังหวัดลำปาง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า สมาคมล้อเลื่อน จังหวัดลำปาง ตัวท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมรถม้าคนแรกของจังหวัดลำปาง โดยร่างกฎและระเบียบว่าด้วยสมาคมขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ได้เข้ามาบริหารสมาคมแทนขุนอุทานคดีและเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นสมาคมรถม้า จังหวัดลำปาง โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า THE HORSE CARRIAGE IN LAMPANG PROVINCE นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากิจการรถม้าในลำปางได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และขอรับสมาคมรถม้าไว้ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล อีกทั้งได้ตั้งกองทุนให้สมาคมรถม้าอีก ๑ กองทุน

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดลำปางในโอกาสนั้น เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง นายกสมาคม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถม้าแบบ ๒ ล้อ พร้อมด้วยม้าเทียมรถ ชื่อบัลลังก์เพชรแด่พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวิชราลงกรณ์ ในนามของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และสมาคมรถม้า ซึ่งชาวรถม้าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

ตามสถิติของกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ รถม้าในจังหวัดลำปางมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๕ คัน จากากรสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ มีรถม้าลำปางเหลืออยู่เพียง ๗๐ คัน และที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนจริงๆ มีเพียง ๕๐ คันเท่านั้น

ปัจจุบันนี้ท่าจอดรถม้าลำปางช่วงกลางวันจะอยู่ที่ข้างศาลากลางจังหวัดลำปาง ส่วนกลางคืนจะจอดทั้งที่ข้างศาลากลางจังหวัด และบริเวณหน้าโรงแรมต่างๆ อาทิเช่น โรงแรมเอเชีย โรงแรมทิพย์ช้าง โรงแรมลำปางเวียงทอง เป็นต้น สำหรับค่าโดยสารซึ่งสมาคมรถม้าลำปางได้กำหนดไว้มี ๓ อัตรา คือ รอบเมือง เที่ยวละ ๑๐๐ บาท รอบเมืองสองฝั่ง เที่ยวละ ๑๕๐ บาท เช่าเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ ๒๐๐ บาท (อัตราเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗) โดยแต่ละเส้นทางมีดังนี้

ชมเมืองลำปางบนเส้นทางรถม้ารอบเมือง เริ่มจุดเริ่มต้นที่ข้างศาลากลางจังหวัด ผ่านถนนทิพย์ช้าง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ มีตึก และบ้านโบราณบางส่วน ชมแม่น้ำวัง ผ่านห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะถ่ายภาพนั่งรถม้าเป็นที่ระลึก จากนั้นผ่านถนนบุญวาทย์ อันเป็นย่านธุรกิจการค้า สิ่งปลูกสร้างในยุคปัจจุบัน และสิ้นสุด ณ ข้างศาลากลางจังหวัด

ชมเมืองลำปางบนเส้นทางรถม้ารอบเมืองสองฝั่ง มีอยู่ ๒ เส้นทาง คือเส้นทางแรก เริ่มจากข้างศาลากลางจังหวัดผ่านถนนทิพย์ช้าง ชมแม่น้ำวัง บ้านไม้ทรงพื้นเมืองโบราณ “ บ้านบะเก่า ” ผ่านสวนสาธารณะเทศบาลเมืองลำปาง ผ่านย่านสุขสะอาดที่เป็นย่านบันเทิงในยามค่ำคืนบนถนนท่าคราวน้อยผ่านห้าแยก หอนาฬิกาเข้าสู่ถนนบุญวาทย์ และมาสิ้นสุดที่ข้างศาลากลางจังหวัด

สำหรับเส้นทางที่ ๒ เริ่มจากข้างศาลากลางจังหวัดเช่นเดียวกัน ข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาฯ หรือสะพานขาวอันเป็นสะพานเก่าแก่คู่เมืองลำปาง เลียบฝั่งน้ำวังด้านตะวันออก ข้ามสะพานพัฒนาภาคเหนือ สู่ฝั่งแม่น้ำวังด้านตะวันตก ผ่านห้าแยกหอนาฬิกา เข้าสู่ถนนบุญวาทย์ และสิ้นสุดการชมเมืองลำปางที่ข้างศาลากลางจังหวัด

ชมเมืองลำปางบนเส้นทางรถม้า โดยเช่าเป็นชั่วโมงสามารถที่จะเลือกเส้นทางท่องเที่ยวและชมเมืองตามที่ต้อง การ เช่น ข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาฯ ชมบ้าน “ เสานัก ” ซึ่งเป็นบ้านโบราณมีเสามากถึง ๑๑๖ ต้น ชมวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามและวัดเจดีย์ซาว เป็นต้น


อนึ่งหมู่บ้านรถม้า ซึ่งเป็นแหล่งของรถม้า คนขับรถม้าและแหล่งทำรถม้า มี ๕ หมู่บ้าน คือบ้านวังหม้อ บ้านท่าคราวน้อย บ้านศรีบุญเรือง บ้านนาก่วมเหนือ และบ้านนาก่วมใต้ การทำรถม้าจะทำเมื่อมีผู้ต้องการ ราคาคันละ ๔๕,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท(อัตราเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗) ใช้เวลาประมาณ ๑-๒ เดือน จึงจะสำเร็จ ๑ คัน สำหรับม้าที่นำมาเทียมรถเป็นม้าที่ปลดระวางจากสนามแข่ง ราคาตัวละ ๒๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท (อัตราเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗) การฝึกม้าเพื่อลากรถ หากเป็นม้าดีก็ใช้เวลาฝึกเพียง ๒-๓ วัน อาจมีบางตัวที่ต้องฝึกเป็นแรมเดือน

ลักษณะของรถม้าในเมืองลำปาง
รถม้าในเมืองลำปางเท่าที่พบเห็นอยู่ทั่วไป จำแนกได้ ๓ แบบ คือ

รถม้า ๔ ล้อ รับจ้างทั่วไป (Queen Victoria ) ใช้ม้าลาก ๑ หรือ ๒ ตัว หรือมากกว่า ตัวถังโค้งงอเป็นรูปท้องเรือ รถม้าที่นำไปจากลำปางไปรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร เนื่องในวันครบ ๘๐ ปี งานปศุสัตว์ก็เป็นรถม้าประเภทนี้

รถม้า ๒ ล้อ ( Tap ) จะใช้ม้าลาก ๑ หรือ ๒ ตัว ก็ได้ อาจใช้เป็นรถฝึกม้าหรือใช้ส่วนตัว

รถม้ากระบะ โดยมากเป็นแบบ ๔ ล้อ สมัยก่อนใช้ลากขนสินค้าหรือขยะมูลฝอย

ส่วนประกอบที่สำคัญของรถม้า มีดังนี้

• โครงหลังคา ทำด้วยผ้าเทียมหนังหรือหนัง สมัยก่อนจะทึบ เปิดปิดได้ ด้านในประกอบด้วยโครง ทำด้วยไม้หรือเหล็ก ๒ ข้าง ดันโครงหลังคาให้ตึง

• ตัวถัง ทำด้วยไม้บุด้วยทองเหลือหรือแผ่นเหล็กด้านหลัง และด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง

• แหนบ รถม้าจะใช้แหนบประกบกันให้โค้งเป็นรูปไข่แหนบกว้าง ๑ ๑/๔ นิ้ว หัวท้ายยึดด้วยนอตยืดหยุ่นได้

• ลูกโม่ เป็นส่วนสำคัญหรือหัวใจของรถม้าในการเลี้ยงซ้ายและขวา

• ลูกล้อและเพลา ล้อไม้ ล้อหน้า ๑๒ ซี่ ล้อหลัง ๑๔ ซี่

• ตะเกียง รถม้า มีหลายรูปแบบ ของแท้ที่นำมาจากต่างประเทศหาดูได้ยาก จะมีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จังหวัดลำปาง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นไฟแบตเตอรี่เกือบทุกคันเพราะรถยนต์มากขึ้น หากแสงจากตะเกียงไม่สว่างพอ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

• ระฆัง มี ๒ ฝา ประกบกัน มีเหล็กเหยียบ จะมีเสียงสะท้อนเป็น ๒ เสียง ดังกังวานไพเราะเมื่อเวลาขับขี่ และเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงม้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน

-----------------------------------------------------------

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดศรีชุม ชมสถาปัตยกรรมพม่า


วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ได้นำสมาชิกเยาวชนพร้อมทั้งอาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้ ไปแอ่ววัดศรีชุม ชมสถาปัตยกรรมพม่า พร้อมทั้งฟังพระธรรมเทศนาจากเจ้าอาวาสวัดศรีชุม และเดินชมสถาปัตยกรรมพม่าโดยเจ้าอาวาสวัดศรีชุมได้ให้ความรู้กับสมาชิก จากนั้นน้องๆสมาชิกได้พากันไปให้อาหารปลา ณ บ่อปลาภายในบริเวณวัด บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน มีฝนตกลงมาบ้างประปราย




ประวัติวัดศรีชุม
(ข้อมูลจากhttp://www.ezytrip.com/)



วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างในปี พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในเขตตำบลสวนดอก

จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่ พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่มีศิลปะการตกแต่งแบบล้านนาและพม่า หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของ

วันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น เป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่ง ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่และยังมีชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปจัดแสดงไว้ด้านหลังวิหาร วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2524

-----------------------------------------------------------

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดปงสนุก “ป๋าเวณี กิ๋นข้าวสลาก

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2551 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ได้พาสมาชิกเยาชนและผู้ปกครอง ไปร่วมป๋าเวณี กิ๋นข้าวสลาก ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเหนือที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยทั้งสมาชิกและเจ้าหน้าที่ได้นำเอาก๋วยสลากที่จัดทำขึ้นมาเองมาร่วมพิธี พร้อมทั้งเข้าไปชมพิธีการคัดแยก สลากภายในอุโบสถ์วัดปงสนุก โดยมีครูยุพา แสนวงศ์คำ อธิบายความเป็นมาของพิธีการให้กับสมาชิก ได้เข้าใจกันอีกด้วย
-----------

-----------
อธิบายพิธีตานก๋วยสลาก



ก๋วยสลาก คือ ชะลอมใบย่อม ที่บรรจุ ผลไม้ ข้าวสาร อาหารสุกและอาหารแห้ง เวชภัณฑ์ เพื่อนำมาทำบุญ ในก๋วยสลากจะมีซองปัจจัยเสียบไว้บนยอดก๋วย เขียนชื่อของตนเองติดไว้ที่ก๋วยและเส้นสลาก

เส้นสลาก คือใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “สลากข้าวของนี้หมายมีผู้ข้า นายเมือง นางดี ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” คือหมายถึงว่าถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว จะได้รับเอาของไทยธรรมนั้นในปรโลก

เส้นสลากที่เขียนแล้วจะนำไปรวมกันได้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ได้จำนวนเท่าใดก็นำไปแบ่งหารให้กับพระภิกษุสามเณร จากนั้นพระภิกษุสามเณรก็จะออกเดินหาเจ้าของชื่อในใบลานที่ท่านได้รับ บ้างก็จะตะโกนเรียกชื่อที่เขียนไว้ในใบลาน เมื่อพบแล้วเจ้าของก็จะเอาก๋วยสลากไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นลากนั้น ให้เจ้าของสลากไป เจ้าของก็นำเอาเส้นสลกานั้นไปรวมไว้ในวิหารเมื่อเสร็จแล้ว “แก่วัด” หรือมัคนายกก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย เป็นอันเสร็จพิธี


ประวัติวัดปงสนุก (ข้อมูลจากเว็บไซต์ วารสารเมืองโบราณ)
http://www.muangboranjournal.com/

ภาพจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=364713

วัดปงสนุกตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย ครั้งที่พระองค์เสด็จมาสร้างเขลางค์นครเมื่อ พ.ศ.๑๒๒๓ เดิมชื่อวัดเชียงภูมิ หรือวัดพะยาว มีประวัติว่าหมื่นโลกนครผู้รักษาเมืองเขลางค์เคยใช้เป็นที่ตั้งรับทัพอยุธยาที่ยกขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ.๑๙๒๙

สิ่งสำคัญที่ยืนยันความสำคัญของวัดคือ “ม่อนดอย” เนินเขาพระสุเมรุจำลอง ศูนย์กลางแห่งจักรวาล ชาวบ้าน เรียกว่าวัดบน อันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อความหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ

บริเวณชั้นระหว่างหลังคางดงามด้วยงานแกะสลักรูปกินนร สัตว์หิมพานต์ครึ่งคนครึ่งนก แต่งกายแบบราชสำนักพม่า และนกยูง สัญลักษณ์ของกษัตริย์ ประดับช่องหน้าต่างด้วย ลายฉลุรูปม้า วัว สิงห์ สัตว์ประจำทิศในพุทธศาสนา รวมถึงนรสิงห์เทินหม้อปูรณฆฏะ สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ขนาบด้วยภาพชาดกเขียนสีบนพื้นไม้ใส่กรอบกระจก แสดงเรื่องการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น แผนผังวิหารยังเพิ่มมุมระหว่างมุขอีกสี่ด้าน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเสาประดับโคนรูปกลีบบัว อันเคยประดับด้วยกระจกจืน (กระจกตะกั่ว) ทำหน้าที่ประดุจฐาน จักรวาลที่รองรับโลกและภพภูมิต่างๆไว้

ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้โพธิพฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี

แม้ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานการสร้างวิหารหลังนี้ แต่ในบันทึกของครูบาอาโนชัย ธรรมจินดามุนี อดีตพระราชาคณะหัวเมือง กล่าวถึงการบูรณะม่อนดอย และซ่อมวิหารหลังนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งยืนยันด้วยหลักฐานจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปไม้ที่เก็บรักษาไว้โดยทางวัด

ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน หลงเหลือเพียงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งยังมีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน วิหารหลังนี้จึงเปรียบเสมือนสายสัมพันธ์ทางศิลปกรรม กับสิบสอง ปันนาเท่าที่เหลืออยู่

วิหารหลังนี้เคยมุงหลังคาด้วยโลหะเช่นเดียวกับอาคารโบราณหลายแห่งในล้านนา ซึ่งนิยมมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๐๐๐ ตัวอาคารเกือบทั้งหลังประดับด้วยกระจกจืน หรือกระจกตะกั่ว เสากลมภายในวิหารก็เคยลงรักปิดทองก่อนจะทาสีทับภายหลัง ทั้งยังมีการต่อเติมมุขทั้งสี่ของอาคารหลังเดิมออกมา ทำให้งดงามแปลกตาจนเป็นต้นแบบให้กับการสร้างงาน สถาปัตยกรรมในสมัยหลัง ดังเช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง ตำบลป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย หรือวิหารสี่ครูบา ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

ยูเนสโกมอบรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคแห่งองค์การยูเนสโก ประจำปี 2551 เพื่อยกย่องการบูรณปฏิสังขรณ์วัดปงสนุก จังหวัด ลำปาง โดยโครงการอนุรักษ์มรดกดังกล่าวได้รับรางวัลดี (Award of Merit) เผยเป็นวัดแรกของไทยที่ได้รางวัลนี้
-----------------------------------------------------------

แอ่ววัด แอ่วเวียงวัด พระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม


วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียน อาจารย์ยุพา แสนวงศ์คำ สมาชิกเยาวชนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งประธานมูลนิธินิยมปัทมะเสวีและภรรยา คุณณรงค์และคุณพูลศรี ปัทมะเสวี ได้เดินทางไปวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม ในกิจกรรมแอ่ววัด แอ่วเวียง เพื่อทัศนศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองของท้องถิ่น

เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระแก้วดอนเต้า คณะผู้ร่วมกิจกรรมแอ่ววัด แอ่วเวียง ได้เดินทางไปถวายสังฆทานและปัจจัยให้กับเจ้าอาวาส จากนั้นเจ้าอาวาสจึงพานั่งสมาธิและแสดงธรรมเทศนา พร้อมทั้งอธิบายถึงความหมายและความเป็นมาของภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ
จากนั้นทางผู้ร่วมกิจกรรม ได้เดินชมวัด และพิพิธภัณฑ์ โดยมีอาจารย์ยุพาเป็นคนให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดในส่วนต่างๆทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ความรู้และความสนุกสนานไปทั่วหน้า
----------------

----------------
ประวัติวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม
(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)



วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงามมีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี
พระแก้วดอนเต้า ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) และนำมาถวายเจ้าอาวาส เพื่อแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เนื่องจากวัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม นั้นร้างลง แต่มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า

วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ พอๆกับการสร้างวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติล้านนา และวิหารพระเจ้าทองทิพย์

การขึ้นทะเบียน

- กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75
- กระทรวงศึกษาธิการ โดย กรมการศาสนา ประกาศรวมวัดพระแก้วดอนเต้า และวัดสุชาดาราม เข้าเป็นวัดเดียวกัน ชื่อ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2527

-----------------------------------------------------------

แอ่ววัด แอ่วเวียงวัดบุญวาทย์วิหาร โดยอาจารย์ยุพา แสนวงศ์คำ

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ และสมาชิกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปถวายเทียนพรรษาเนื่องในวันเข้าพรรษา โดยไปถึงวัดเวลาเช้าตรู่สมทบกับนักเรียนกลุ่มพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่มากับคุณครูยุพา แสนวงศ์คำ และร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา คือ ถวายเทียนพรรษา และเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์


ประวัติวัดบุญวาทย์วิหาร (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)


วัดบุญวาทย์วิหาร เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และเป็นวัดหลวงวัดแรกของจังหวัดลำปางเดิมชื่อวัดกลางเมือง เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้านายมาแต่โบราณ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ สมัยเจ้าหลวงคำโสมผู้ครองนครลำปางได้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหลวงไชยสัณฐาน

ต่อมาเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง เห็นความทรุดโทรมลงมากจึงรื้อแล้วสร้างใหม่ และให้หล่อพระประธานองค์ใหม่คือ พระพุทธรุปพระเจ้าตนหลวง แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า วัดบุญวาทย์บำรุงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ วัดบุญวาทย์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงสามัญชั้นตรี และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดบุญวาทย์วิหาร
วิหารหลวง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ มีลักษณะเป็นอาคารทึบ หลังคาจั่วฐานสูงกว่าวิหารล้านนา ซึ่งได้รับแบบจากวิหารในกรุงเทพ ฯ ตกแต่งภายในด้วยลายไทยภาคกลาง เหลือร่องรอยศิลปะล้านนาอยู่เพียงบางส่วน เช่น ตุงกระด้าง และค้ำยัน

-----------------------------------------------------------