วันจันทร์

แอ่ววัด แอ่วเวียง วัดปงสนุก “ป๋าเวณี กิ๋นข้าวสลาก

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2551 เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ได้พาสมาชิกเยาชนและผู้ปกครอง ไปร่วมป๋าเวณี กิ๋นข้าวสลาก ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเหนือที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยทั้งสมาชิกและเจ้าหน้าที่ได้นำเอาก๋วยสลากที่จัดทำขึ้นมาเองมาร่วมพิธี พร้อมทั้งเข้าไปชมพิธีการคัดแยก สลากภายในอุโบสถ์วัดปงสนุก โดยมีครูยุพา แสนวงศ์คำ อธิบายความเป็นมาของพิธีการให้กับสมาชิก ได้เข้าใจกันอีกด้วย
-----------

-----------
อธิบายพิธีตานก๋วยสลาก



ก๋วยสลาก คือ ชะลอมใบย่อม ที่บรรจุ ผลไม้ ข้าวสาร อาหารสุกและอาหารแห้ง เวชภัณฑ์ เพื่อนำมาทำบุญ ในก๋วยสลากจะมีซองปัจจัยเสียบไว้บนยอดก๋วย เขียนชื่อของตนเองติดไว้ที่ก๋วยและเส้นสลาก

เส้นสลาก คือใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “สลากข้าวของนี้หมายมีผู้ข้า นายเมือง นางดี ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” คือหมายถึงว่าถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว จะได้รับเอาของไทยธรรมนั้นในปรโลก

เส้นสลากที่เขียนแล้วจะนำไปรวมกันได้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ได้จำนวนเท่าใดก็นำไปแบ่งหารให้กับพระภิกษุสามเณร จากนั้นพระภิกษุสามเณรก็จะออกเดินหาเจ้าของชื่อในใบลานที่ท่านได้รับ บ้างก็จะตะโกนเรียกชื่อที่เขียนไว้ในใบลาน เมื่อพบแล้วเจ้าของก็จะเอาก๋วยสลากไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นลากนั้น ให้เจ้าของสลากไป เจ้าของก็นำเอาเส้นสลกานั้นไปรวมไว้ในวิหารเมื่อเสร็จแล้ว “แก่วัด” หรือมัคนายกก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย เป็นอันเสร็จพิธี


ประวัติวัดปงสนุก (ข้อมูลจากเว็บไซต์ วารสารเมืองโบราณ)
http://www.muangboranjournal.com/

ภาพจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=364713

วัดปงสนุกตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย ครั้งที่พระองค์เสด็จมาสร้างเขลางค์นครเมื่อ พ.ศ.๑๒๒๓ เดิมชื่อวัดเชียงภูมิ หรือวัดพะยาว มีประวัติว่าหมื่นโลกนครผู้รักษาเมืองเขลางค์เคยใช้เป็นที่ตั้งรับทัพอยุธยาที่ยกขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ.๑๙๒๙

สิ่งสำคัญที่ยืนยันความสำคัญของวัดคือ “ม่อนดอย” เนินเขาพระสุเมรุจำลอง ศูนย์กลางแห่งจักรวาล ชาวบ้าน เรียกว่าวัดบน อันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อความหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ

บริเวณชั้นระหว่างหลังคางดงามด้วยงานแกะสลักรูปกินนร สัตว์หิมพานต์ครึ่งคนครึ่งนก แต่งกายแบบราชสำนักพม่า และนกยูง สัญลักษณ์ของกษัตริย์ ประดับช่องหน้าต่างด้วย ลายฉลุรูปม้า วัว สิงห์ สัตว์ประจำทิศในพุทธศาสนา รวมถึงนรสิงห์เทินหม้อปูรณฆฏะ สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ขนาบด้วยภาพชาดกเขียนสีบนพื้นไม้ใส่กรอบกระจก แสดงเรื่องการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น แผนผังวิหารยังเพิ่มมุมระหว่างมุขอีกสี่ด้าน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเสาประดับโคนรูปกลีบบัว อันเคยประดับด้วยกระจกจืน (กระจกตะกั่ว) ทำหน้าที่ประดุจฐาน จักรวาลที่รองรับโลกและภพภูมิต่างๆไว้

ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้โพธิพฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี

แม้ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานการสร้างวิหารหลังนี้ แต่ในบันทึกของครูบาอาโนชัย ธรรมจินดามุนี อดีตพระราชาคณะหัวเมือง กล่าวถึงการบูรณะม่อนดอย และซ่อมวิหารหลังนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งยืนยันด้วยหลักฐานจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปไม้ที่เก็บรักษาไว้โดยทางวัด

ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน หลงเหลือเพียงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งยังมีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน วิหารหลังนี้จึงเปรียบเสมือนสายสัมพันธ์ทางศิลปกรรม กับสิบสอง ปันนาเท่าที่เหลืออยู่

วิหารหลังนี้เคยมุงหลังคาด้วยโลหะเช่นเดียวกับอาคารโบราณหลายแห่งในล้านนา ซึ่งนิยมมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๐๐๐ ตัวอาคารเกือบทั้งหลังประดับด้วยกระจกจืน หรือกระจกตะกั่ว เสากลมภายในวิหารก็เคยลงรักปิดทองก่อนจะทาสีทับภายหลัง ทั้งยังมีการต่อเติมมุขทั้งสี่ของอาคารหลังเดิมออกมา ทำให้งดงามแปลกตาจนเป็นต้นแบบให้กับการสร้างงาน สถาปัตยกรรมในสมัยหลัง ดังเช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง ตำบลป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย หรือวิหารสี่ครูบา ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

ยูเนสโกมอบรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคแห่งองค์การยูเนสโก ประจำปี 2551 เพื่อยกย่องการบูรณปฏิสังขรณ์วัดปงสนุก จังหวัด ลำปาง โดยโครงการอนุรักษ์มรดกดังกล่าวได้รับรางวัลดี (Award of Merit) เผยเป็นวัดแรกของไทยที่ได้รางวัลนี้
-----------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น