ประวัติวัดเกาะ
(ที่มาเว็บไซต์ http://www.watkoh.com/)
ที่มาของคำว่าเกาะ(ที่มาเว็บไซต์ http://www.watkoh.com/)
ตามทางภูมิศาสตร์ได้กล่าวว่า เกาะ คือแผ่นดินส่วนใดส่วนหนึ่งผืนแผ่นดินส่วนนั้นมีน้ำล้อมรอบ เรียกว่าเกาะประมาณ 40-50 ปี ย้อนหลังขึ้นไป ลำแม่น้ำวัง เมื่อไหลผ่านสะพานรัษฎาภิเษกลงไปประมาณ 250 เมตร ก็จะแยกออกจากกัน เป็นสองแถว ที่แยกจากกันนั้นเกิดเป็นเกาะกลางขึ้นเกาะหนึ่ง แควทั้งสองข้างเกาะ จะมีน้ำไหลมากพอให้เรือเดินขึ้นล่องได้สะดวก น้ำที่ไหลแตกแยกจากกัน จะไปบรรจบเป็นแควเดียวกันอีก จากหัวเกาะถึงท้ายเกาะยาวประมาณ 200 เมตร ตอนที่กว้างที่สุดของเกาะ ประมาณ 50 เมตร
เกาะแห่งนี้แต่โบราณกาลประมาณไม่ได้ว่าจะเป็นกี่ปีมาแล้ว นัยว่าเป็นสถานที่เจ้าหญิงองค์หนึ่ง แห่งลานนามาประทับอยู่หรือทำพิธีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง (ผู้เขียนไม่กล้ายืนยัน) เมื่อหมดสมัย หรือหมดความต้องการของใคร ๆ แล้ว ก็คงจะทิ้งอยู่เป็นเกาะป่าละเมาะร้างว่างเปล่าอยู่ดังนั้นตลอดมา พอจะประมาณได้ว่า ราว 90-100 ปีมานี้ก็มีประชาชนข้ามไปจับจอง แผ้วถางถือกรรมสิทธิ์ปลูกบ้านอยู่อาศัย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำสวนปลูกผักเป็นตอน ๆ การจะข้ามไปมาสู่เกาะนี้ จากฝั่งซ้ายทิศเหนือและฝั่งขวาทิศใต้จะต้องใช้เรือหรือทำสะพานไม้ไผ่ขัดแตะชั่วคราว มีตอนปิดเปิดตรงร่องน้ำให้เรือแพผ่านไปมาได้ สะพานนี้จะทำใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งน้ำลดเท่านั้น แม้จะเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งมากแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นมีน้ำมากไหลเอ่ออยู่ตลอดเวลาด้านซ้ายและขวาของเกาะก็มีน้ำไหล เรือแพขึ้นล่องได้ตลอดสาย ตั้งแแต่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ถึงสุดปากแม่น้ำวัง ไหลลงไปบรรจบแม่น้ำปิง ที่ อ.สามเงา จ.ตาก
ความเป็นมาโดยย่อเกี่ยวกับการก่อสร้างวัดเกาะ
โบราณกาล คนไทยอพยพไปอยู่ที่ใด เป็นกลุ่มก้อนมักไปสร้างวัดให้ใกล้บ้านตน ตามสมควรในที่เหมาะสมเป็นของตนเองสักแห่งหนึ่ง หรือหลายแห่งแล้วแต่โอกาสวัดในอำเภอเมืองลำปางขณะนั้น มีอยู่แล้วอย่างที่เห็น ๆ กันในขณะนี้ แต่อาจเป็นเพราะหวังผลอานิสงส์ทางศาสนาอย่างหนึ่ง เกียรติคุณชื่อเสียงอย่างหนึ่ง และการไปมาวัดเพื่อความสะดวกบางประการหรือหลายประการ เวลานั้นก็มีพระและวัดชาวใต้อยู่ 2 วัด คือวัดไทยใต้วัดดำรงธรรมปัจจุบันและวัดบนหรือวัดไทยบน วัดเมืองสาสน์ใต้ แล้วแต่จะเรียกกันตามถนัด ปัจจุบันวัดบนหรือวัดเมืองสาสน์ใต้ไม่มีแล้ว ได้รื้อถอนเป็นศาสนสมบัติของวัดเมืองสาสน์ใต้ ปัจจุบันนี้ตั้งโรงเรียนพินิจวัฒนา ท่านเหล่านั้นนอกจากได้ทำบุญตามวัดพื้นเมืองต่าง ๆ แล้ว วัดชาวใต้ 2 วัด ที่มีดำรงธรรม กับวัดบนอาจไม่พอกับความต้องการหรือห่างไกลไปและโดยอการปกครองคณะสงฆ์ตลอดทั้งพิธีศาสนกิจการสวดอรรถาบาลีทำนอง ยังไม่เป็นระเบียบอย่างเดี๋ยวนี้ ต่างวัดต่างปฏิบัติตามความนิยมของแต่ละฝ่าย สิ่งเหล่านี้หรือหลายอย่างอาจประกอบดัน จึงเกิดศรัทธาประสาทะการสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง จึงต่างมองแสวงหาที่ทางอันเหมาะสม จะได้สร้างกันต่อไป
กำเนิดของวัดเกาะวาลุการาม
เมื่อพ่อค้าแม่ค้าคหบดี แถวถนนตลาดจีนเหล่านั้นตั้งใจจะสร้างวัดอยู่แล้ว ก็เห็นว่าเกาะกลางที่แยกแม่น้ำออกสองแคว ในแถวใกล้หรือหลังบ้านของตนอยู่นี้พอจะข้ามไปมา อุปถัมภ์ทำบุญสุนทานได้สะดวก ทั้งตั้งอยู่ในที่แยก ๆ ออกไปเป็นสัดส่วนต่างหาก ไม่ปะปนกับชุมนุมชน ค้าขายแต่อย่างใด เป็นทำเลร่มเย็นเหมาะสมเป็นบริเวณอารามสถานได้ดี แม้จะมีคนไปจับจองทำสวนปลูกบ้านเรือนอยู่ทางหัวเกาะบ้างแล้ว ก็เป็นเพียงบางส่วน พอจะแผ้วถางปลูกสร้างได้ ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส สนับสนุนออกทุนทรัพย์ทั้งกำลังกายกำลังใจแผ้วถางที่ทางขยับขยายด้วยการซื้อขายแบ่งปันยกให้ สุดแล้วแต่กำลังศรัทธา อาคารหลังแรกของวัดเกาะวาลุการามก็ปรากฎขึ้นเป็นกุฏิไม้ไผ่ หลังคามุงตอนตึง (ตองควง) ฝาขัดแตะ ตั้งอยู่บริเวณข้างต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งเวลานี้ได้ล้มโค่นลงแล้ว อยู่ใกล้ ๆ กับกุฏิพระนอนประมาณปีเริ่มตั้งวัดก็เห็นจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2427 ถึง พ.ศ. 2430 ประมาณ 90 ปีมาแล้ว
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watkoh.com/data/histr/historywat.php)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น